Wednesday, February 22, 2012

อาหารไทย กับการแข่งขันกอล์ฟ นัดประวัติศาสตร์โลก

จากหนังสือประชาชาติธุรกิจ โดยพิษณุ นิลกลัด 
เดือนเมษายนปี 2001 อาหารไทยเป็นข่าวใหญ่ในสื่อทุกประเภทของอเมริกาไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่นานหลายวันเมื่อได้รับเลือกให้เสิร์ฟแบบเซต เมนูในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เรียก "แชมเปี้ยนส์ ดินเนอร์" ที่สนามออกัสต้า 2 วันก่อนการแข่งขันมาสเตอร์ส 2001

แชมเปี้ยนส์ ดินเนอร์ เป็นอาหารมื้อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกอล์ฟ เพราะผู้ที่จะได้รับเชิญจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เคยเป็นแชมป์กอล์ฟรายการ มาสเตอร์สซึ่งเป็นเมเจอร์แรกของทุกปีเท่านั้น ลูกเมียหรือคนอื่นไม่มีสิทธิ์เข้าไป ยกเว้นประธานสโมสรออกัสต้าและกรรมการอีกไม่กี่คน

เจ้าภาพของงานเลี้ยงมีคนเดียวคือแชมป์มาสเตอร์สเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างงานปี 2001 เจ้าภาพคือ วีเจย์ ซิงห์ แชมป์มาสเตอร์ส 2001

หน้าที่ ของเจ้าภาพคือ เลือกอาหารสำหรับงานเลี้ยงรวมทั้งไวน์ เหล้า เบียร์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมด ซึ่งทุกคนพูดเหมือนแจ็ก นิคลอส เคยพูดว่า "ผมยินดีเป็นคนจ่ายค่าอาหารแชมเปี้ยน ดินเนอร์ทุกปี !"

ปี 2001 วีเจย์ ซิงห์ นักกอล์ฟชาวฟิจิชอบรับประทานอาหารไทยเป็นชีวิตจิตใจเพราะเขามีเชื้อสาย อินเดีย มีภรรยาเป็นชาวมาเลย์ และมีเพื่อนสนิทเป็นคนไทยที่ทำอาหารอร่อยมาก เลือกอาหารไทยเป็นอาหารของแชมเปี้ยนดินเนอร์ปีนั้น เขามอบหมายให้ คุณนันทา และคุณสุพิชัย นิยมกูล เจ้าของร้านแนน (Nan : Thai fine dining) ร้านอาหารไทยระดับจับตลาดบนซึ่งอยู่ในนครแอตแลนต้าเป็นคนจัดทั้งหมด

ปี นั้น ไบรอน เนลสัน แชมป์มาสเตอร์ส วัย 93 ปี ซึ่งอายุมากที่สุดในบรรดาแชมป์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทานเสร็จแล้วลุกขึ้นกล่าว ต่อหน้าแชมป์ทุกคนว่า "ตั้งแต่ผมทานแชมเปี้ยน ดินเนอร์มา ปีนี้อร่อยที่สุดในชีวิต"

วันนั้นแชมป์มาสเตอร์สทั้ง 32 คนพร้อมใจกันมอบลายเซ็นบนเสื้อเชฟให้คุณแนนหรือนันทา ซึ่งเป็นแม่ครัวใหญ่

แจ็ก นิคลอส ตอนแรกจะสั่งอาหารอย่างอื่นของคลับเฮาส์เพราะไม่คุ้นกับอาหารไทย แต่ ไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ บอกว่าขอให้ลองเถอะแล้วคุณจะติดใจ ปรากฏว่าคืนนั้นแจ็กซัดปลากะพงสามรสซะเต็มเหนี่ยวคนเดียวเล่น 2 จาน

ปลา กะพงสามรสซึ่งใช้ปลากะพงน้ำลึกจากชิลีมีมันเยอะทำให้เนื้อนุ่มเป็นอาหารยอด ฮิตในคืนนั้น แชมป์หลายคนขอให้คุณนันทาทำใส่กล่องกลับไปฝากให้ภรรยาได้ชิม

ความ ดังของอาหารไทยในกอล์ฟมาสเตอร์สคราวนั้นทำให้คุณนันทาได้จัดแชมเปี้ยน ดินเนอร์ รายการพีจีเอ แชมเปี้ยนชิปปีรุ่งขึ้นทั้งๆ ที่ทุกปีกอล์ฟรายการนี้ไม่เคยจัดแชมเปี้ยน ดินเนอร์ งานนี้มีความเป็นไทยมากกว่าที่ออกัสต้าเพราะมีรำอวยพรในงานเลี้ยงด้วย

ผม เคยเสนอแนะว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยน่าจะซื้อเทปหรือบันทึกเทปงาน เลี้ยงทั้งสองงานนี้เพื่อนำมาใช้งานโฆษณาอาหารไทยและการท่องเที่ยวไทยเวลาไป โรดโชว์หรือไปออกบูทออกร้านในต่างประเทศ เอาอาหารไทยผูกติดไปกับนักกอล์ฟอย่าง แจ็ก นิคลอส ไทเกอร์ วูดส์ อาร์โนล พาลเมอร์ และ ฯลฯ รวมทั้งผูกติดรายการกอล์ฟที่คนเล่นกอล์ฟทั้งโลกรู้จักอย่างมาสเตอร์สโดยที่ เราเสียเงินอย่างมากที่สุดไม่เกิน 3 แสนบาทแต่สามารถใช้งานได้ตลอดไป

คนของ ททท.เคยโทรศัพท์มาขอเบอร์โทรศัพท์ของคุณนันทาและคุณสุพิชัยจากผม น่าเสียดายที่คุณ สุพิชัยและคุณนันทาไม่ได้รับการติดต่อกลับไป

ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้เพื่อตำหนิใคร แต่อยากจะเรียนว่าคืนวันพุธที่ 12 กันยายนนี้อาหารไทยจะดังระเบิดอีกแล้ว

อย่างที่เราทราบกันว่ากอล์ฟรายการเฟดเอ็กซ์ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายของปี 2007 จะแข่งระหว่างวันที่ 13 ถึง 16 กันยายนที่นครแอตแลนต้า

กอล์ฟ รายการนี้ได้รับการกล่าวขวัญมาตั้งแต่ปีกลายตอนที่ ทิม ฟินเช่ม ประธานของพีจีเอ ทัวร์ประกาศเปลี่ยนปฏิทินการแข่งขันของพีจีเอ ทัวร์ใหม่เพื่อให้ฤดูแข่งขันจบเร็วขึ้น นักกอล์ฟจะได้มีเวลาพักหลังปิดฤดูยาวขึ้น

นอกจากเปลี่ยนปฎิทินแล้ว ทิมยังเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน 4 ทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของปีให้เป็นระบบ เพลย์ออฟ 4 สัปดาห์ติดกัน เริ่มจากรายการแรกคัดผู้เล่นที่ทำคะแนนสะสมทั้งปีดีที่สุด 144 คนมาแข่งสโตรกเพลย์ 72 หลุม จบแล้วคัดเหลือ 120 คน และ 70 คนในสัปดาห์ต่อๆ มา

พอถึงสัปดาห์สุดท้ายจะเหลือเพียง 30 คนเท่านั้น

ความยิ่ง ใหญ่ของสัปดาห์สุดท้ายนอกจาก 30 คนจะมีแต่โปรระดับที่สุดของโลกเท่านั้นแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ฮือฮากันลั่นโลกคือแชมป์ในรอบ 30 คนสุดท้ายจะได้เงินรางวัล 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเงินรางวัลการแข่งขันกีฬาที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ทิม ฟินเช่ม จัดการแข่งขันระบบนี้ก็เพื่อ "บีบ" ให้นักกอล์ฟระดับซูเปอร์ สตาร์ลงแข่งขันในรายการพีจีเอ ทัวร์ที่เขาบริหารอยู่ให้มากรายการที่สุดตลอดฤดูแข่งขันเพื่อเรตติ้งผู้ชม ทางทีวีและจำนวนผู้ชมในสนามจะได้สูงทุกสัปดาห์ เพราะเท่าที่ผ่านมารายการที่ไม่มีดาราอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ หรือ ฟิล มิเคลสัน ลงแข่งเรตติ้งจะตก ยิ่ง 3 ปีล่าสุดไทเกอร์กับฟิลผลัดกันไม่ลงแข่งขันรายการสุดท้ายของปียิ่งทำให้พีจี เอ ทัวร์ เสียภาพลักษณ์ในเรื่องคนดู ปีต่อๆ ไปทิมซึ่งมีหน้าที่ขายสปอนเซอร์ย่อมทำงานลำบาก

นี่คือที่มาของการ แข่งขันแบบเพลย์ออฟใน 4 รายการสุดท้ายของปี ใครอยากได้เงิน 10 ล้านดอลลาร์ต้องขยันแข่งเพื่อทำแต้มสะสมให้ติดอยู่ในทำเนียบ 144 คนแรกก่อน

แล้วการแข่งขันเพลย์ออฟรอบสุดท้ายที่เหลืออยู่เพียง 30 คนจะมีขึ้นในวันที่ 13 -16 กันยายนนี้

คืน วันพุธที่ 12 กันยายนนี้ ทางพีจีเอ ทัวร์จะจัดงานเลี้ยงนักกอล์ฟ 30 คนสุดท้ายและภรรยาแบบหรูหราที่ ร้าน Nan และขอให้คุณนันทาจัดอาหารไทยล้วนๆ ให้เป็นกรณีพิเศษแบบปิดร้านเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ผมได้รับกำหนดการและ เมนูอาหารงานนี้แล้วตื่นเต้นมาก เพราะงานนี้ทุกอย่างเป็นไทยหมด ตั้งแต่ของทานเล่น อาหารหลัก ของหวาน เบียร์ รวมแม้กระทั่งคนเสิร์ฟก็คนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

งานเริ่มเวลา 17.00 น. ทิม ฟินเช่ม ประธานพีจีเอ ทัวร์ ซึ่งชอบอาหารไทยและชอบทำอาหารจะเข้าครัวเรียนวิธีทำผัดพริกขิงไก่กับคุณนันทา

18.00 น. - 19.30 น. นักกอล์ฟ ภรรยา และ สปอนเซอร์ รวม 100 คน มาถึงร้าน ทานของทานเล่นแบบค็อกเทลยืนจิบเบียร์สิงห์ธรรมดา และเบียร์สิงห์ไลท์แกล้มอาหารว่างแบบไทยๆ ที่พนักงานแบกถาดเดินเสิร์ฟประกอบด้วยสะเต๊ะไก่-เนื้อ-แกะ ลูกชิ้นปิ้งสามรส เปาะเปี๊ยะทอด และกุ้งโสร่ง

1 ทุ่มครึ่งเป็นต้นไปได้เวลาบุฟเฟต์ คุณนันทาจัดซุ้มทำข้าวเกรียบปากหม้อและขนมครกแบบสดๆ ให้นักกอล์ฟและภรรยานักกอล์ฟทาน ใครอยากละเลงแป้งข้าวเกรียบหรือหยอดขนมครกก็จะสอนให้

สำหรับเมนู บุฟเฟต์ประกอบด้วย ปลากะพงสามรส (ฟิล มิเคลสัน ขอมา) ซี่โครงวัวมัสมั่น (นำซี่โครงวัวไปตุ๋นให้เปื่อยก่อน เมนูนี้อดัม สก็อตต์ กับ เจฟฟ์ โอกิลวี่ สั่งว่าต้องมี) แพนงไก่ (อาหารในดวงใจของวีเจย์ ซิงห์) แกงเขียวหวานปลากะพง ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ต้มโคล้งเนื้อเปื่อย ข้าวผัดกุ้ง และข้าวสวยหอมมะลิ

ของหวานเป็นขนมไทยทั้งหมด มีตะโก้ ขนมตาล ขนมใส่ไส้ ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยาฟักทอง และข้าวเหนียวมะม่วงในหลอดแก้ว (หน้าตาเป็นอย่างไรจะเล่าให้อ่านวันหลัง เรื่องมันยาว)

งานนี้ทีวีช่อง NBC และ Golf Channel บันทึกภาพไปออกอากาศ

ดูจากเมนู ดูจากความยิ่งใหญ่ของงานดูจากคนที่มาร่วมงาน เรียนตามตรงว่าผมอยากให้ ททท.ไปขอซื้อภาพจากทีวีของอเมริกามาใช้งาน

โอกาส ที่อาหารไทยจะได้ไปผูกติดกับนักกอล์ฟที่เก่งที่สุดของโลก 30 คน ผูกติดกับการแข่งขันกอล์ฟนัดประวัติศาสตร์นัดแรกของโลกมีครั้งนี้ครั้งเดียว ไม่คว้าคราวนี้ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสอีกเมื่อไหร่


จากหนังสือประชาชาติธุรกิจ  โดยพิษณุ นิลกลัด

No comments:

Post a Comment