Tuesday, January 24, 2012

รู้จัก “ข้าวแช่”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2548 16:38 น.
       อันที่จริงแล้วถ้าจะให้เท้าความถึงความเป็นมาของ “ข้าวแช่” ว่ามีความเป็นมาอย่างแน่ชัดเช่นไรไม่มีใครทราบแน่ชัดได้ เพราะมีเรื่องราวเล่าสืบต่อกันมาหลากหลายแง่มุมต่างกันออกไป อย่างเช่นกล่าวกันว่า “ข้าวแช่” เป็นส่วนประกอบในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาว่า ในวันสงกรานต์ชาวมอญหุงข้าวแช่ในงานสงกรานต์ เพื่อถวายพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล และข้าวที่หุงนี้ไม่เหมือนกับที่กินหรือขายกันทั่วไป เพราะมีกรรมวิธีการทำที่พิเศษพิสดารกว่า เช่น ต้องใช้ข้าวสารดีเยี่ยม 7 กำ ซ้อมข้าวนั้นให้ได้ 7 ครั้ง แล้วซาวน้ำบริสุทธิ์ 7 หน จึงนำมาหุง
      
       แล้วตามประเพณีต้องหุงข้าวกลางแจ้ง ถ้าจะให้เต็มพิธีต้องปักราชวัตรฉัตรธงด้วย นอกจากถวายข้าวแช่พระแล้ว ข้าวแช่นี้ยังจะต้องจัดสังเวยเทวดาด้วย โดยปลูกศาลเพียงตาบริเวณบ้าน และสังเวยข้าวแช่เป็นเวลา 3 วัน ข้าวแช่ที่เหลืออยู่อาจนำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นสิริ มงคล
      
       นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนาน “ข้าวแช่” เอาไว้ว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ขาดเสียอยู่แต่อย่างเดียวตรงที่ไม่มีทายาทที่จะรับสืบทอดมรดก เศรษฐีได้ทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์ และพระจันทร์อยู่นาน จนเวลาล่วงไป 3 ปี ยังไม่มีลูก เห็นทีจะไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนไปบวงสรวงพระไทร ซึ่งสิงสถิตต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ
      
       ในการจัดเครื่องบวงสรวงครั้งนี้ เศรษฐีสั่งให้บริวารเอาข้าวสารเมล็ดงามล้างน้ำถึง 7 ครั้งจนบริสุทธิ์หมดมลทิน แล้วจึงหุงข้าวนั้นเพื่อบูชาพระไทร ประกอบด้วยอาหารโอชารสอีกมากมาย ล้วนจัดทำด้วยความประณีตทั้งสิ้น จากนั้นเศรษฐีจึงอธิษฐานขอบุตรจากพระไทร
      
       ฝ่ายพระไทรเห็นความพยายามของเศรษฐี ก็เมตตา จึงไปเฝ้าพระอินทร์ทูลขอบุตรให้เศรษฐีได้ผล พระอินทร์จึงโปรดให้เทวบุตรนามว่าธรรมปาล จุติลงมาเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ฝ่ายเศรษฐียินดีปรีดามากตั้งชื่อลูกชายว่า ธรรมบาลกุมาร พร้อมสร้างปราสาทเจ็ดชั้นให้ลูกชาย เป็นที่มาของนิทานมหาสงกรานต์ที่ได้ยินกัน
      
       แต่ไม่ว่าเรื่องราวความเป็นมาของ “ข้าวแช่” จะเป็นเช่นไร ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาถกเถียงกันมากนัก เพราะว่าด้วยเรื่องรสชาติและรูปร่างหน้าของข้าวแช่ แล้วนั้น จัดได้ว่าเป็นศิลปะของการทำอาหารอีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าด้วยกรรมวิธีการทำที่จะต้องใช้ฝีมือและความประณีตบรรจงในการทำเป็น อย่างมาก จึงทำให้ดูเหมือนว่าข้าวแช่ นั้นหากินได้ยากมากก็ว่าได้
      
       ถ้าเป็นสมัยก่อนการที่จะได้กิน “ข้าวแช่” นั้นเป็นเรื่องยาก ผู้ที่จะได้ลิ้มรสชาติข้าวแช่ ต้องเป็นผู้ที่อยู่แต่ในรั้วในวังเท่านั้นก็ว่าได้ เพราะเดิมทีข้าวแช่ เป็นสูตรต้นตำรับมาจากในวัง แต่ต่อมาข้าวแช่ก็กลายมาเป็นที่แพร่หลาย เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวัง พระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน ทรงนำห้องเครื่องจากพระบรมมหาราชวังไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รู้จักตำรับข้าว แช่
      
       ชาวบ้านจึงนำไปฝึกทำจนเกิดความชำนาญขึ้น เลยได้ชื่อว่า “เมืองเพชร ดินแดนแห่งข้าวแช่” ซึ่งถือว่า ข้าวแช่ของชาวเพชรบุรี เป็นสูตรชาววังเก่าแก่ที่สุด นับตั้งแต่นั้นมาข้าวแช่ จึงไม่ใช่ของกินที่หากินยากอีกต่อไป

No comments:

Post a Comment