Thursday, May 26, 2011

“มะยงเปรี้ยว-มะปรางหวาน” ที่ “คลองขลุง” กำแพงเพชร/แม่ช้อย นางรำ

บนถนนพหลโยธิน ช่วง “คลองขลุง-กำแพงเพชร” ระหว่างกม.317-320 ชาวบ้านเอามะยง-มะปราง ตั้งขายข้างทาง
       ขึ้นเหนือคราวนี้ มีของดีมาฝากเจ้านาย ของที่ย่าอีชั่นภาคภูมิใจ บอกกับใครๆ ว่า “สวนบ้านเรามีมะปรางหวานพันธุ์กรุงเก่า”
       

       เมื่อตอนสงกรานต์ อีชั้นกลับไปที่บ้านเชียงราย
      
       ตั้งใจไว้ว่า จะขึ้นไปเอากาแฟที่เก็บไว้เมื่อสาม..สี่เดือนลงมาคั่วให้เจ้านายได้เห็นฝีมือ
      
       แต่เรื่องกาแฟยังไม่เขียนหรอก
      
       อยากจะบอกเรื่อง “มะยง-มะปราง” ผลไม้อร่อยสองอย่าง ที่ระหว่านเดินทาง อีชั้นเห็นชาวบ้านเขาวางขายก็ไม่แน่ใจว่าอร่อยเหมือน มะยง..มะปรางบ้านย่าของอีชั้นหรือไม่
      
       เพราะสมัยเมื่ออีชั้นยังเด็ก ใครๆ ก็ต้องมาหาย่ามาขอปัน “มะยง..มะปราง” เอาไปกินกัน สวนของย่าอีชั้นได้ชื่อว่า
      
       มะยงก็หวาน มะปรางก็หวาน ได้พันธุ์ดีมาตั้งแต่บรรพบุรุษอยู่ “กรุงเก่า” กรุงศรีอยุธยา เมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้นทีเดียวเชียวละเจ้าค่ะ
      
       เห็นมะยง...เห็นมะปราง แล้วคิดถึง “ย่าจั่น” อีชั้นก็ลงไปทักทาย แล้วอุ๊ยต๊าย!!ตาย ของเขาหวานหอมไม่แพ้ของย่าปลูกเอาไว้
      
       แต่พอย่าตาย ทางการเวนคืนที่ ทำถนนเข้าไปในสวน ก็ไม่มีอะไรให้เหลือกินกัน
“ยิ้มหวานกว่ามะปรางของชาวบ้าน”
       เขียนแล้วนึกถึงมะม่วง “น้ำดอกไม้” เป็นสิบ..สิบต้นที่เขามาโค่นทะลาย ต้นจันต้นอินไม้ใหญ่ เคยเก็บเอาไว้ใต้หมอนหอมฟุ้งทั้งคืน ต้นพิกุล บุนนาค ลำดวน เขียนแล้วชวนจะร้องไห้
      
       ต้นชมพู่สาแหรก ม่าเหมียว ต้นไม้ดอก ไม้ผล ไม้ใบหมดกันไปสิบ..ร้อยต้น
      
       แต่ที่ย่าภาคภูมิใจมากกว่าต้นทั่วไปก็คือ.. “ต้นมะปราง”
       

       ย่ามักจะบอกลูกหลาน กระทั่งคนเข้ามาขอปันซื้อไปกินว่า.. “ของพันธุ์กรุงเก่า มีมาแต่กรุงยังไม่แตก”
      
       “มะปราง”ในสวนย่าเป็นมะปรางหวาน ที่เรียกว่า “มะปรางพันธุ์ไข่” คือผลใหญ่เท่ากับไข่เป็ดไข่ไก่ แล้วหวานสนิท ใครกินก็ติดใจ
      
       เขียนแล้วทำให้คิดถึง คำเก่าแก่แต่โบราณ ที่ย่าเรียกอีชั้นว่า.. “นังกาวาง” อ๊าว..คงสงสัยใช่มั๊ยเจ้าค่ะว่า ทำไมอีชั้นจึงถูกย่าเรียกอย่างนั้น เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้เจ้าค่ะ
“มะปรางไข่” หวานจับใจอีกาไม่วาง
       “กาวาง”
      
       ชาวสวนสมัยก่อน เขาจะเรียกมะปรางหรือมะยงตามรสชาติที่ผลไม้สองอย่างนี้แตกต่างกัน
      
       ถ้ามีรสหวาน ก็จะเรียกว่า.. “มะปรางหวาน”
      
       ถ้าเป็นมะยงก็เรียก “มะยงชิด”
      
       แต่ถ้าเป็นรสเปรี้ยว มะปรางจะเรียก “มะปรางกาวาง” ถ้าเป็นมะยงก็เรียก “มะยงห่าง”
      
       คือมันเปรี้ยวเสียจนกาต้องวาง กาต้องห่าง
      
       อีชั้นถูกเรียกว่า “นังกาวาง” ก็นึกเอาเถิดเจ้าค่ะว่า...เปรี้ยวแค่ไหน...
      
       แถวเมืองนนท์ แถวฝั่งธนบุรี ถิ่นฐานบ้านอีชั้นดั้งเดิม เดี๋ยวนี้หามะปรางหรือมะยงกินยาก ถ้าเจ้านายอยากจะกินชนิดหวาน หรืออมเปรี้ยวอมหวาน ผ่านไปทางกำแพงเพชร ไม่ต้องซื้อกล้วยไข่ ให้ซื้อมะปราง...มะยงของชาวบ้านที่ขายข้างทางได้
      
       ถ้าเป็นมะปรางหวานกิโลละ 120 บาท
      
       ถ้าเป็นมะยงหวานกิโลละ 180 บาท รู้แล้วอย่าแปลกใจว่าทำไมมะยงจึงแพงกว่ามะปราง ก็ถ้าจะแพงมันต้องมะปรางสวนของย่าอีชั้น เพราะเป็นมะปรางพันธุ์ไข่ สายพันธุ์จากอยุธยา
      
       ย่าแกไม่ขายเป็นโล แต่จะนับลูกขาย
      
       ใครไม่ซื้อก็ได้ ลูกหลานในบ้านก็ไม่ให้กินฟรี จ่ายเงินมาซะดี..ดี ย่าแกให้เหตุผลว่า
      
       .. “ทวดข้าหนีพม่า มีมะปรางติดตัวมาถึงได้รอดตาย ใครจะกินฟรี ก็ขอให้ข้ามศพข้าไปก่อน เข้ามาเลย ใบละบาท..ขาดตัว”
      
       ..ถูกแพงอย่างไรก็ขอให้นึกว่าสมัยย่า ทองบาทละสามร้อยบาทเท่านั้นเองนะเจ้าค่ะ..เจ้านาย
       

No comments:

Post a Comment