Monday, August 8, 2011

ตำรับอาหารเลื่องชื่อกับ 4 ผู้สืบทอด





แม่สมาน-สมาน กลิ่นนาคธนกร

เครื่องเคียง 'ข้าวแช่ช้อนทองเสวย ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ' (บนซ้าย) ไชโป๊วเค็มผัดหวาน หมูหวานฝอย เนื้อปลายี่สนผัดหวาน ลูกกะปิ

เอกพจน์ สกิดใจ ลูกชายแม่เล็ก
 
ทิพย์สุวรรณา จิตต์ไพศาล และทุเรียนทอด

ชัยนันต์ เยาวพัฒน์ แนะนำ 'ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์' รูปหัวใจ

ขนมหม้อแกง-ข้าวแช่เจ้าเด็ดเมืองเพชร ทุเรียนทอดกรอบ-ของทะเลแห้งจังหวัดระยอง ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์ จังหวัดลำปาง
       แต่ละภูมิภาคของไทย ล้วนมีอาหารขึ้นชื่อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารรสเด็ด หรือเป็นอาหารที่สร้างชื่อเสียงด้วยคุณภาพและรสชาติ บ้างก็มีตำนานเรื่องเล่า จนกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น ใครไปเยือนถึงถิ่นก็มักเสาะแสวงหาโอกาสให้ได้ลิ้มลอง เหมือนกับว่าถ้าไปถึงที่นั่นแล้วไม่ได้ชิม ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ขนมหม้อแกงแม่สมาน
       แต่ละจังหวัดมีอาหารขึ้นชื่อซุกซ่อนอยู่มากมาย สำหรับจังหวัดเพชรบุรีครั้งนี้ขอกล่าวถึง ขนมหม้อแกงแม่สมาน อย่างที่รู้กันจังหวัดนี้มีขนมหม้อแกงหลายแม่ โดยเฉพาะบรรดาแม่ๆ ที่เป็นเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ตามจุดขายของฝากเมืองเพชรริมถนนล่องเข้า-ออก กรุงเทพฯ ขนมหม้อแกงในร้านของฝากเมืองเพชรเหล่านั้นส่วนหนึ่งรับไปจากเตาขนมของ แม่สมาน หรือ สมาน กลิ่นนาคธนกร เจ้าของสูตรผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยภายใต้ชื่อ 'ขนมหม้อแกงแม่สมาน' ขนมหม้อแกงเมืองเพชร รับประกันคุณภาพและรสชาติด้วยรางวัลโอท็อป 5 ดาวประจำจังหวัด
       เส้นทางสู่ความเป็นขนมหม้อแกงอันดับหนึ่งเมืองเพชรของ 'แม่สมาน' นั้นต้องฟันฝ่า
       "ในชีวิตไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว เป็นลูกจ้างเขาวันละห้าบาทสิบบาทตลอด มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนสามคนวันละหกบาท ก็เลยดิ้นรนทำขนม" แม่สมานกล่าวกับ @taste ด้วยสำเนียงน่าฟังของคนเมืองเพชร
       พ.ศ. 2518 จากชีวิตชาวนา แม่สมานออกจากถิ่นเกิดตำบลห้วยโรง (อ.เขาย้อย) เดินทางเข้าเพชรบุรีไปอยู่กับญาติ เป็นลูกมือทำ 'ข้าวมันส้มตำ' และเร่หาบขายเจ็ดวันเจ็ดที่ ได้ค่าจ้างวันละห้าสิบบาท มีเสื้อตัวเดียว เช้าใส่เย็นซัก ขาดหมด
       "ต่อมาเขาก็เลิก ให้ทำเองต่อไป แม่ค้าในตลาดก็บอกว่าทำไมไม่ทำขนมบ้างล่ะ" แม่สมานเล่า
        จากจุดนี้เองแม่สมานจึงเริ่มทำขนม ซึ่งพอจะทำเป็นมาบ้างแล้วคือ ข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้ พอถึง พ.ศ. 2534 ก็เริ่มทำข้าวเหนียวตัดและขนมหม้อแกงส่งบรรดา 'แม่ๆ' ประสบความสำเร็จด้านยอดขายและคุณภาพมากระทั่งทุกวันนี้ นอกจากส่งให้ 'แม่ๆ' แล้ว ยังมีตัวแทนมารับซื้อขนมส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกา
       ถามแม่สมานว่า ได้สูตรทำขนมหม้อแกงนี้มาจากใคร แม่สมานเล่าให้ฟังว่า "หม้อแกงนี่ก็หัดเอง" แม่สมานเรียกขนมหม้อแกงสั้นๆ ว่า "หม้อแกง" 
       "ทดลองเองหมด แข็งไปก็ทิ้ง ยังไม่มัน ก็เติมกะทิลงไป แจกเขาชิมประจำ ฉันมีประสบการณ์อย่างหนึ่งคือ ของทุกอย่างที่เราไม่เป็น ฉันชั่งหมดเลย อย่างละกิโล (กิโลกรัม) ใส่แล้วชิมดูว่าพอใจไหม แล้วเราถอนของนั้นออก เราใช้ไปเท่าไหร่ แล้วจดไว้ เพราะเราไม่เป็น เราฟังคนรอบข้างเยอะๆ ยี่สิบคนไม่ชอบห้าคน เราก็ทำตามสิบห้าคน"
       แม่สมานเล่าว่าการทำ 'หม้อแกง' ยากทุกขั้นตอน เริ่มจากตอกไข่ไก่โม่กับน้ำตาลโตนดให้เรียบร้อยแล้วนำมากรอง จากนั้นคั้นกะทิ เลือกเฉพาะมะพร้าวคุณภาพดี (มะพร้าวที่มีกลิ่นหืนแม้แต่นิดเดียวก็ทำให้ขนมเสียรสชาติ) คั้นกะทิด้วยเครื่องคั้น (ราคาแสนกว่าบาท) คั้นโดยไม่ต้องใส่น้ำ ได้เป็นหัวกะทิ ใช้หัวกะทิล้วนๆ ก่อน (ถ้าไม่พอค่อยคั้นอีกครั้งโดยไม่ผสมน้ำเหมือนเดิม) กรองกะทิ แล้วเอามารวมกัน แล้วโม่เผือกใส่ แล้วกรองอีกที ส่งเข้าเตา
       นอกจากสูตรหม้อแกงที่ลองผิดลองถูกจนอร่อย วิธีอบขนมให้สุก ไม่ง่ายยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เป็นงาน 'ทำมือ' ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญ จะฝาก 'หม้อแกง' ไว้กับเตาสมัยใหม่ยังไม่ได้
       "หม้อแกงยิ่งกว่าลูกอ่อน พอหน้าเหลืองปุ๊บต้องรีบเปิดฝา ผึ่งไว้ก่อน แล้วปิด เปิดปิดอย่างนี้ตลอด สิบหกเตา ถ้าไม่ทำแบบนี้หน้ามันจะไม่สวย มันจะปูดขึ้นมา เมื่อฉันไปเที่ยวงานไทยเฟ็กซ์ (Thaifex -งานแสดงสินค้าและอาหารโลก) ไปดูเตาอบไฟฟ้า ฉันบอกคนขายว่า ถ้ามีใครซื้อไปแล้ว ตามฉันไปดูด้วยนะ มันหลายแสน เพราะฉันต้องดูตรงนั้นก่อนว่ามันอบได้ไหม เขาบอกว่าอบแล้วความร้อนจะอยู่คงที่ ถ้าอยู่คงที่ หน้าขนมก็จะไม่ปูด ก็จะสวยงาม แต่ถ้านานไปหน้าข้างบนก็จะไหม้ แต่ข้างล่างยังไม่สุก ที่ต้องเปิดปิดฝาก็เพื่อระบายความร้อนออกบ้างเพื่อให้ข้างล่างสุกและหน้า ข้างบนไม่ไหม้ เตาสมัยใหม่ที่ควบคุมอุณหภูมิได้ส่วนใหญ่เป็นเบเกอรี่มากกว่า แต่สำหรับขนมไทย มีใครเคยทดลองใช้หรือยัง เขายังตอบเราไม่ได้เลย"
       ทุกวันนี้แม่สมานยังคงตื่นแต่ตีสอง ลุกขึ้นมาดูแลลูกมือในการทำขนมไทยทุกขั้นตอน นอกจาก 'หม้อแกง' แล้วยังมีข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวตัด ใส่ไส้ ขนมกล้วย ขนมมัน ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้าปลา ขนมชั้น เผือกกวน ขนมผิง ลูกอมกะทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
       จากวันที่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนวันละหกบาท แม่สมานพลิกชีวิตตนเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจขนมที่มียอดขายทั้งในและต่าง ประเทศ ช่วงฟองสบู่แตกพ.ศ. 2540 แม่สมานยังคงเก็บเงินจากการทำขนมได้เดือนละเก้าหมื่นบาท มาถึงพ.ศ.นี้วันธรรมดาแม่สมานอบ 'หม้อแกง' วันละ 1,000 ถาด วันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มเป็น 2,000-3,000 ถาด
       "ต้องดิ้นรน เราเป็นคนที่ว่า เขามีอะไร เราไม่ใฝ่สูง เห็นเขามีอะไร ถ้าเราไม่มีเงิน ก็ไม่ซื้อ ถ้าเรามี เราถึงจะซื้อ การพนันไม่เล่น แทงหวยก็ไม่เคยเล่น ในบ้านก็เหมือนกันหมด เพราะว่าเราไม่ได้นำ เราค้าขายให้มีคุณธรรมประจำใจ ถึงเราเป็นบ้านนอก เราก็ไม่ได้โกหกหลอกลวงเขา อย่างน้ำตาลเราก็ใช้น้ำตาลโตนดแท้ๆ ใช้ไข่สดใหม่ มะพร้าวทำเอง ทำให้วันนี้พบความสำเร็จ" แม่สมานเล่า
       ใครอยากชิม 'หม้อแกง' ฝีมือแม่สมาน นอกจากติดตามข่าวสารการจัดงานเทศกาลอาหารอร่อยซึ่ง 'แม่สมาน' มักได้รับเชิญให้ร่วมออกร้าน สามารถเดินทางไปได้ที่จังหวัดเพชรบุรี ต.ห้วยโรง อ.เขาย้อย มองหาป้ายร้าน ขนมหม้อแกง ร้านเพ็ชรสมาน และยังมีหน้าร้านอยู่ที่ 'ตลาดทรัพย์สิน' ริมแม่น้ำเพชรบุรี

ข้าวแช่ช้อนทองเสวย
ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ
       อาหารขึ้นชื่อเมืองเพชรอีกอย่างหนึ่งคือ ข้าวแช่ช้อนทองเสวย ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ ทำไมข้าวแช่จึงมาโด่งดังที่จังหวัดเพชรบุรี เอกพจน์ สกิดใจ ลูกชายของแม่เล็ก เล่าให้ฟังว่า แน่นอนว่าข้าวแช่ดั้งเดิมเป็นอาหารของชาวมอญ แต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ทรงโปรดเสวยข้าวแช่มาก ทรงมีรับสั่งให้จัดทำถวาย คนเพชรบุรีก็ทำไม่เป็น ห้องเครื่องต้องเกณฑ์ผู้หญิงไปวันละหมู่บ้านสอนทำข้าวแช่เพื่อปรุงเป็น เครื่องเสวย ทำให้เป็นอาชีพติดตัวคนเพชรบุรีมาจนทุกวันนี้ ข้าวแช่ชาววังเมืองเพชรก็เริ่มจากนั้นเป็นต้นมา
       แม่เล็ก สกิดใจ ก็เป็นครอบครัวชาวเมืองเพชรอีกครอบครัวหนึ่งที่ได้รับมรดกการทำข้าวแช่ เครื่องเสวยในแผ่นดินรัชกาล 4 จากรุ่นปู่ย่าตายาย
       เครื่องเคียงข้าวแช่มอญดั้งเดิมมีประมาณ 5 หรือ 7 อย่าง แล้วแต่ท้องถิ่น ส่วนใหญ่มักประกอบด้วยปลาแห้งป่น เนื้อเค็มฉีกฝอย หัวไชโป๊วเค็มผัดไข่ ไข่เค็ม กระเทียมดอง แต่สำหรับข้าวแช่เมืองเพชรมีเครื่องเคียงแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ เนื้อปลาผัดหวาน ลูกกะปิทอด ไชโป๊วเค็มผัดหวาน
       โดยเฉพาะ "ปลาผัดหวาน เป็นเอกลักษณ์ความอร่อยของเราคือ ปลายี่สน ใช้เนื้อปลายี่สนล้วนๆ ไม่ใส่หนังปลาไม่ใส่ก้างปลา ไม่ใส่มะพร้าวปนเพื่อให้เนื้อมากขึ้น เดิมชาวมอญนิยมใช้ปลาช่อน แต่เมื่อมาอยู่เพชรบุรีเมืองติดทะเล จึงเปลี่ยนมาใช้ปลายี่สน ซึ่งเป็นปลาทะเล แกะเอาแต่เนื้อ เอามาตำจนเนื้อฟู ไม่ใช้วิธีฉีกที่ง่ายกว่า ถ้าไม่ตำ เนื้อปลาจะไม่ฟูละเอียด แล้วเอามาผัดกับน้ำตาลโตนด ส่วนไชโป๊วก็คั้นน้ำเอาความเค็มออก แล้วจึงเคี่ยวกับน้ำตาลโตนด" เอกพจน์ กล่าว
       เนื้อปลาผัดหวาน 'ข้าวแช่ช้อนทองเสวย' ของแม่เล็ก สกิดใจ มองไม่เห็นเค้าว่าคือเนื้อปลา เนื้อสัมผัสชวนชิม มีความนุ่มและละเอียดเนียนอยู่ในปาก เดาไม่ออกว่าเป็นเนื้อปลาถ้าไม่บอกก่อน ส่วนไชโป๊วเค็มผัดหวานยังคงมีเสน่ห์ของความเป็นเนื้อไชโป๊วขณะเคี้ยว รสชาติหวานพอเหมาะ ไม่เค็มจัด มันเลี่ยน และหวานเยิ้มราวไชโป๊วเชื่อม
       ในส่วนของ ข้าว แม่เล็ก สกิดใจ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมข้าวแช่ คือนำเมล็ดข้าวหลังหุงสุกแล้วมา ขัดสี เพื่อให้เมล็ดข้าวกลมใสขึ้นเงา เวลาใส่น้ำ ข้าวยังใสเหมือนเดิม
       "ผมคิดว่าเป็นกุศโลบายคนโบราณ ข้าวหุงสุกแล้ว เอามาขัดสีให้เมือกข้าวออกให้หมด แล้วนำไปนึ่งอีกที ผมถือว่าเป็นการพาสเจอร์ไรซ์ของคนโบราณ ทำให้อายุในการเก็บอยู่ได้นานขึ้น ทำให้อาหารไม่เสีย เป็นการถนอมอาหาร เพราะว่าเป็นเครื่องเสวย ใช้ระยะเวลานาน ทุกอย่างต้องมีการทดสอบก่อน เช่น จะเสวยเที่ยง ของต้องเสร็จตั้งแต่แปดโมงเช้าแล้ว ถ้าอายุในการเก็บสั้น อาหารก็อยู่ไม่ได้ เพื่อถนอมอาหารให้ยาวนาน เครื่องข้าวแช่เมืองเพชรจึงเอาไปผัดกับน้ำตาลโตนด ทั้งเนื้อปลา ไชโป๊ว กะปิทอด ก็เอาไปผัดหวานเก็บไว้ เนื้อฉีกฝอยก็เช่นกัน พอเช้ามาก็มาขัดข้าวกับอบน้ำ นำขึ้นถวาย" เอกพจน์ให้ความเห็น
       น้ำที่ใช้กินกับข้าวแช่ก็อบด้วยดอกไม้หอม 3 ชนิด คือ กระดังงา ชมนาด มะลิ และอบเทียนด้วยการใส่กะลาลอยน้ำอีก 7 ครั้ง และหมั่นกวนน้ำให้ควันเทียนนำความหอมลงไปผสมกับน้ำมากที่สุด ได้น้ำข้าวแช่ที่หอมเย็นชื่นใจตลอดเวลาของการกิน
       ส่วนข้าวแช่ชาววังที่มีเครื่องเคียงพริกหยวกยัดไส้ หอมแดงยัดไส้ มะม่วงจัก เกิดหลังรัชกาลที่สี่ เมื่อรัชกาลที่ห้าทรงนำข้าวแช่กลับเข้ากรุงเทพฯ พระองค์ทรงโปรดเสวยมะม่วง ข้าวแช่จึงมีมะม่วงจัก และเพิ่มเครื่องเคียงตามธรรมเนียมจำนวนนิยม คือ สาม ห้า เจ็ด เก้า
       หลังจากประกวดข้าวแช่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของเพชรบุรี เมื่อปีพ.ศ. 2540 ข้าวแช่ช้อนทองเสวย ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ ก็ได้รับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมวงศานุวงศ์ 5 พระองค์แล้วเมื่อท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล นำเข้าถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อปีพ.ศ. 2541
       เอกพจน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ 'ข้าวแช่ช้อนทองเสวย' เป็นที่ยอมรับ เพราะครอบครัวเขายังคงรักษาตำรับดั้งเดิมไว้ตั้งแต่รุ่นก่อนคุณยาย ใช้วัตถุดิบของเพชรบุรี คงคุณภาพไว้เหมือนเดิม แม้ต้นทุนสูง ก็ไม่นำอย่างอื่นมาปนเพื่อประหยัดต้นทุน
       นักชิมหา 'ข้าวแช่ช้อนทองเสวย ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ' ได้ที่ ร้านข้าวแช่ช้อนทองเสวย เยื้องศาลเจ้าพ่อกวนอู ตลาดท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และที่ โกลเด้น เพลส หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทุเรียนทอด-ของทะเลแห้ง
ร้านคุณส้ม ระยอง
       ของกินขึ้นชื่อของจังหวัดระยองมีมากมาย ถ้าต้องการของอร่อยจำพวกทุเรียนทอด ทุเรียนกวน สละลอยแก้ว ของทะเลแห้ง เช่น ปลาเค็ม หมึกแห้ง ปลาข้าวสาร ลองมองหา ร้านคุณส้ม ร้านนี้เน้นสินค้าคุณภาพมากกว่าปริมาณ
       โดยเฉพาะ "ปลาอินทรีกับปลาหมึก เป็นของปากน้ำระยอง มีความนุ่ม อร่อยไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากทะเลปากน้ำระยองพื้นเป็นทราย ต่างจากที่อื่นที่เป็นโคลน เนื้อปลาหมึกจะสวยและหวาน" คุณ ส้ม-ทิพย์สุวรรณา จิตต์ไพศาล เจ้าของ 'ร้านคุณส้ม' แนะนำ
       ส่วน ปลาอินทรี มีจุดเด่นตรงเรือที่ออกหาปลาอินทรี เป็นเรือแบบอวนลอย หาปลาอินทรีโดยเฉพาะ เมื่อได้ปลาแล้วก็กลับเข้าฝั่งทันที ไม่ดองเกลือ เมื่อขึ้นฝั่งแล้วจึงจะเริ่มดองเกลือ เนื้อปลาจึงไม่เละ-ไม่แข็ง นิยมนำไปทอด โรยหอมซอย พริกขี้หนูซอย บีบมะนาว กินกับข้าวสวยหรือข้าวต้ม หรือจะกินโดยผัดกับคะน้าหรือใส่ในแกงเทโพก็ได้ ส่วน หมึกเค็ม ตัวละประมาณ 2-3 นิ้ว ปรุงด้วยการทอดแล้วกินกับแกงเผ็ดหรือข้าวต้ม ถ้าตัวใหญ่กว่านี้เอาไปผัดกะเพราหรือทอดกระเทียมพริกไทยก็อร่อย
       สำหรับ ทุเรียนทอด คุณส้มเลือกใช้เฉพาะ ทุเรียนหมอนทอง คัดอย่างดี เลือกมาเฉพาะลูกที่มีคุณภาพ แก่จัด แต่ต้องไม่สุกเกินไป ถ้าสุกเกินไป เวลานำมาทอด เนื้อจะไม่สวยไม่เป็นแผ่น ถ้าใช้ทุเรียนอ่อน เนื้อจะไม่มีความหวานมันของทุเรียน มีแต่ความมันอย่างเดียวคือแป้ง ทุเรียนแก่จัดเวลากิน จะมีความหวานของเนื้อทุเรียนและความเค็มนิดๆ ที่ใส่เข้าไป
 คุณส้มบอกว่า ทุเรียนชนิดอื่นเนื้อไม่สวยไม่อร่อยเหมือนหมอนทอง แต่โดยธรรมชาติเนื้อทุเรียนสีไม่เสมอกันทุกลูก คุณส้มจึงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการเพิ่มขมิ้นเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้เนื้อทุเรียนทอดสีสวยเสมอกัน
       เทคนิคการทอดก็ต้องกะเวลาให้เหมาะสม สุกกำลังดี เนื้อทุเรียนจึงจะเป็นแผ่น ถ้าทอดสุกเกินไป เนื้อจะไม่สวย หลังจากทอดแล้วก็นำมาอบเพื่อไล่ความมันจากการทอด ทุเรียนจะกรอบมากยิ่งขึ้น เก็บได้นานขึ้นโดยไม่เหม็นหืน นานสอง-สามอาทิตย์โดยไม่ต้องแช่เย็น ความกรอบยังมีอยู่ แต่ถ้าเกินสามอาทิตย์ ความหอมและความกรอบก็ลดลงเล็กน้อย
       แม้ฤดูทุเรียนจะอยู่ในช่วงเมษายน-สิงหาคม แต่คุณส้มก็มีทุเรียนทอดขายได้ทั้งปี เพราะจะทอดเก็บไว้ แล้วทยอยนำออกมาอบขาย เพียงพอสำหรับชนฤดูทุเรียนใหม่ในปีหน้า
       ส่วน ทุเรียนกวน ก็ใช้ทุเรียนสุกที่ทอดไม่ได้ แต่ไม่ถึงกับสุกงอม เพราะเนื้อจะไม่สวย นำมาทำทุเรียนกวน กวนด้วยเนื้อทุเรียนล้วนๆ ไม่ผสมน้ำตาลและแป้ง เป็นทุเรียนกวนเนื้อหมอนทองล้วนๆ
 อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของร้านคือ สละลอยแก้ว ร้านนี้ใช้สละพันธุ์สุมาลี เนื้อสละมีความหวานกว่าสละพันธุ์อื่น ทรงผลสวย ขนาดกำลังดี อมเปรี้ยวนิดหนึ่ง นำมาล้างด้วยเกลือเพื่อลดความเปรี้ยวลงอีกหน่อยก่อนแช่อิ่มเป็นลอยแก้ว การล้างด้วยเกลือยังทำให้เนื้อผลไม้สวยสีไม่คล้ำ
       'ร้านคุณส้ม' ตั้งอยู่ที่บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง เลี้ยวขวาตรงป้ายทางเข้าบ้านเพ (สามแยกตลาดสดบ้านเพ) ขับรถเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร  ร้านเป็นห้องแถวเลยอนามัยบ้านเพไปหน่อยเดียว เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดเทศกาล เปิด 07.30-18.30 น. วันธรรมดาหยุด

ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์
       เด่นดังอยู่ในจังหวัดลำปาง ของอร่อยรายการนี้ชื่อ ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์ เริ่มจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งม่านเหนือ ต.บ้านเป้า อ.เมือง จ.ลำปาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2538 ปัจจุบันจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศภายใต้ชื่อยี่ห้อของตัวเอง ผลิตให้กับหลายบริษัทที่นำไปติดตราสินค้าอื่นๆ รวมทั้งส่งออกไปหลายประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี
       ความจริงข้าวแต๋นมีมานานกว่า 200 ปี คนภาคกลางเรียกนางเล็ด คนใต้เรียกข้าวพอง คนเหนือเรียกข้าวแทน แต่ออกเสียงสูงเป็น 'ข้าวแต๋น'
       "ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์ เป็นธัญพืชสำหรับคนรักสุขภาพ ตั้งชื่อตามคุณป้า พี่สาวคุณแม่ ซึ่งเป็นคนลำปาง" ชัยนันต์ เยาวพัฒน์ ทายาทธุรกิจ กล่าว โดยมีคุณพ่อคือ อ.สุธาณี เยาวพัฒน์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการหมวดกังหันไอน้ำ ฝ่ายวิศวกรรมเครื่องยนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้พัฒนาสูตรและการผลิต โดยนำความทันสมัยของการสร้างโรงเรือนอบพลังแสงอาทิตย์มาใช้แทนวิธีการตากให้ แห้งกลางแจ้ง ย่นระยะเวลาการตาก หมดปัญหาเรื่องฝุ่นละอองปนเปื้อน-แมลงรบกวน ลดความชื้นได้แน่นอนซึ่งส่งผลดีกับการทอด ต่อด้วยการอบไล่น้ำมัน และเข้าเครื่องเหวี่ยงอีกทีเพื่อไล่น้ำมันออกให้หมด
       ตัวข้าวแต๋นทำจากข้าวเหนียวคุณภาพดีจากจังหวัดแพร่ เมล็ดสวย อ้วน มีความนุ่มเหนียว แต่ถ้าเอาข้าวเหนียวมาทอดอย่างเดียวจะกระด้าง จึงต้องมีวิธีการปรุงเพื่อให้มีความกรอบ ไม่แข็งกระด้าง ลดการระคายคอเมื่อรับประทาน พัฒนารูปทรงให้หลากหลายขึ้น เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปหัวใจ ทรงโดนัท เพิ่มคุณค่าทางอาหารด้วยการใช้ข้าวเหนียวข้าวกล้อง และหน้าต่างๆ ที่มีให้เลือกขณะนี้ 36 หน้า เช่น หน้าธัญพืชสำหรับคนกินเจ หน้าสาหร่าย หน้างา หน้าสไปซี่ หน้าวาซาบิ ฯลฯ สินค้าใหม่ล่าสุดคือ ดิ๊ปข้าวกล้อง ข้าวแต๋นข้าวกล้องที่ใช้รับประทานกับทูน่า ใส่รวมกับอาหารเช้าประเภทคอนเฟล็ค
       'ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์' ไม่มีหน้าร้าน นักชิมหาซื้อได้ที่แม็คโคร เดอะมอลล์ เซ็นทรัล ร้านบ้านสุขภาพ และตามงานเทศกาลอาหาร
หมายเหตุ : ร้านเพ็ชรสมาน ขนมหม้อแกงแม่สมาน โทร.032 447 032
                ร้านข้าวแช่ช้อนทองเสวย ตำรับแม่เล็ก สกิดใจ โทร.032 461 307
                ร้านคุณส้ม บ้านเพ  โทร.08 1617 7998
                ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แม่บัวจันทร์ เว็บไซต์ khaotanthmaebuachan.bangkoksync.com
             
ภาพ : ประมวล พันธเสน

Life Style : กรุงเทพชวนชิม

No comments:

Post a Comment